ถ้าคุณเอาขนมไทยอย่าง ทองหยิบ ให้คนโปรตุเกสลองชิม เขาอาจจะถามคุณว่านี่คือ “ตรูซูช ดาช กัลดัช” (Trouxas das caldas) หรือเปล่า? พร้อมกับทำหน้าสงสัย และเหตุการณ์เดียวกันก็คงจะเกิดขึ้นกับ ฝอยทอง พวกเขาจะเรียกมันว่า “ฟีอูซ เดอ ออวูซ” (Fios de ovos) ปฏิกิริยาตอบสนองเหล่านี้เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันยาวนานระหว่างโปรตุเกสกับไทย กว่า 500 ปี ซึ่งส่งผลที่ดีทางด้านวัฒนธรรมกับทั้ง 2 ฝ่าย สำหรับประเทศไทยแล้วโปรตุเกสทิ้งร่องรอยวัฒนธรรมไว้ในของหวานอย่างเด่นชัด
ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-โปรตุเกสนั้นเริ่มขึ้นในศตวรรษที่ 15 เมื่อโปรตุเกสเข้ามาติดต่อกับไทยเพื่อรักษาอำนาจทางเศรษฐกิจและอิทธิพลทางการค้า จนกระทั่งปี พ.ศ. 2088 สยามยอมรับโปรตุเกสเป็นพันธมิตร จากการที่โปรตุเกสช่วยสยามร่วมรบกับพม่าที่เชียงกราน ชาวโปรตุเกสจึงได้รับการจัดสรรที่ดินในอยุธยา โดยสมเด็จพระไชยราชาธิราชทรงให้ลงหลักปักฐาน สร้างบ้านและโบสถ์ได้ หลังจากนั้นด้วยช่วงเวลาแห่งการผสมผสานของทั้งสองวัฒนธรรม ฝอยทองก็ได้ถือกำเนิดขึ้นโดย มารี กีมาร์ เดอ ปีนา ชาวสยามลูกหลานชาวโปรตุเกส ที่เกิดที่หมู่บ้านโปรตุเกสในอยุธยา
ความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศนี้แข็งแกร่งมาก ถึงแม้ว่าอาณาจักรอยุธยาจะล่มสลายลงในช่วงปี ค.ศ. 1760 ชาวโปรตุเกสก็ยังเลือกที่จะตามชาวสยามมายังเมืองหลวงแห่งใหม่ที่กรุงเทพฯ พวกเขาตั้งถิ่นฐานใน 2 ย่านริมแม่น้ำเจ้าพระยา คือย่านกุฎีจีน และตลาดน้อย มรดกที่ชาวโปรตุเกสทิ้งไว้นั้นมีอยู่หลายแห่ง เช่น โบสถ์ซานตาครูซ โบสถ์กาลหว่าร์ และสิ่งก่อสร้างของสถานทูตโปรตุเกสในย่าน Creative District ในปี พ.ศ. 2363 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระราชทานที่ดินในย่านบางรักเพื่อสร้างเป็นสถานกงสุลโปรตุเกสแห่งแรก ซึ่งกลายมาเป็นสถานทูตโปรตุเกสในทุกวันนี้