ศาสนจักรคาทอลิกนั้นมีอยู่ในประเทศไทยมาเป็นระยะเวลานาน ตั้งแต่มีการสถาปนากรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองหลวงของประเทศ มีบันทึกทางประวัติศาสตร์ว่าคริสตศาสนาเข้ามาสู่สยามครั้งแรก เมื่อปี ค.ศ. 1550 เมื่อมิชชันนารีชาวฝรั่งเศสตัดสินใจที่จะเริ่มเทศนาคำสอนของพระเยซูที่นี่ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จนัก จนกระทั่งกลางศตวรรษที่ 17 และมีมิชชันนารีเข้ามายังอยุธยามากขึ้นเรื่อย ๆ ช่วงระยะเวลาหลังจากนั้น ถือว่าเป็นช่วงเวลาทดสอบความอดทนและการข่มเหงเหล่ามิชชันนารี แต่ด้วยความมุ่งมั่น ทำให้คาทอลิกยังคงอยู่ แม้ว่าอยุธยาจะล่มสลายลงไป และงานของพวกเขาก็ถือว่าประสบความสำเร็จถึงขั้นสูงสุด จากการที่อาสนวิหารอัสสัมชัญกลายเป็นโบสถ์โรมันคาทอลิกที่มีความสำคัญของประเทศไทยในปัจจุบัน
อาสนวิหารอัสสัมชัญเป็นจุดที่น่าสนใจของพื้นที่ และตั้งอยู่ในย่าน Creative District ซึ่งมีความหลากหลายทางศาสนาในเขตบางรัก ในปี ค.ศ. 1809 หัวหน้ามิชชันนารีได้เริ่มการก่อสร้างโบสถ์ให้เป็นรูปร่างขึ้นเป็นครั้งแรก และโบสถ์สไตล์ไทยเดิมนี้ถูกเรียกว่า โบสถ์อัสสัมชัญ เมื่อสร้างเสร็จในปี ค.ศ. 1821 โบสถ์อัสสัมชัญได้เปลี่ยนชื่อเป็น อาสนวิหารอัสสัมชัญ ในโอกาสที่มีการแต่งตั้งให้เป็นโบสถ์ของสังฆราชประจำเขตปกครองกรุงเทพ ในปี ค.ศ. 1909 การขยายโบสถ์มีความจำเป็นเพื่อรองรับชุมชนคาทอลิกที่กำลังเติบโตขึ้น ภายในระยะเวลา 1 ทศวรรษ อาสนวิหารอัสสัมชัญก็ได้รับการก่อสร้างให้มีความใหญ่โตดั่งเช่นในปัจจุบัน
อาสนวิหารอัสสัมชัญ ซ่อนตัวอยู่ในสนามของโรงเรียนอัสสัมชัญ ซึ่งประตูทางเข้าหลักหันไปทางทิศตะวันตก เข้าหาแม่น้ำเจ้าพระยา อาคารนี้มีความโดดเด่นด้วยการออกแบบด้วยสถาปัตยกรรมแบบโรมาเนสก์ ลักษณะพิเศษของตัวโบสถ์ คือ โครงสร้างส่วนที่ค้ำจุนวิหาร ซุ้มประตูครึ่งวงกลม ทางเดินหลังคาโค้ง เสารูปแบบต่างๆ ที่รวมกันเรียกความสนใจจากผู้พบเห็นด้วยความน่าเกรงขามและความสงบของตัวอาคาร และน้อยคนนักที่จะรู้ว่า ห้องใต้ดินซึ่งอยู่ใต้สถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ เป็นที่เก็บร่างของสังฆราชและเหล่ามิชชันนารีในอดีต อาสนวิหารอัสสัมชัญ มีนโยบายเปิดประตู ให้เข้าเยี่ยมชมได้ในช่วงเวลากลางวัน มีการประกอบศาสนพิธีทั้งในภาษาไทยและภาษาอังกฤษสำหรับผู้ศรัทธา