Event

OBJECTIVE

When

Sun 29 September - Sun 17 November 2019

1PM 7PM; Opening reception Sunday 29 Sept 2019, 69pm

About 1Projects

1PROJECTS รวบรวมโปรเจคศิลปะร่วมสมัยของทวีปเอเชีย ประชาสัมพันธ์และสนับสนุนศิลปินร่วมสมัยในงานแสดงศิลปะทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับนานาชาติ ที่แกลเลอรี่ในต่างประเทศ หรือ ที่แกลลอรี่ของ 1PROJECTS ในกรุงเทพฯ

Read more

การนำวัตถุธรรมดาๆ อย่างก้อนหินมาจัดแสดงร่วมกันใน Objective นิทรรศการศิลปะโดย พรภพ สิทธิรักษ์ กับ ลัทธพล ก่อเกียรติตระกูล คงไม่ใช่เรื่องที่น่าประหลาดใจเท่าไรนัก เมื่อมองจากวิธีการทำงานของทั้งคู่ที่มักจะนำวัตถุในชีวิตประจำวันและวัสดุทางศิลปะมาใช้เป็นสื่อ (medium) หลักในการเล่าเรื่อง บ่อยครั้งที่ภาษาในงานของทั้งสองคนเป็นผลจากกระบวนการจัดการกับวัตถุ (object) และวัสดุ (material) โดยการเปลี่ยนกายภาพและความหมายของวัตถุ / วัสดุ นั้นๆ ด้วยวิธีการต่างๆ ราวกับว่าการทำงานศิลปะของพวกเขาคือการทดลอง ค้นคว้า และหาความเป็นไปได้ในการสร้างสรรค์อยู่เสมอ

การใช้ก้อนหินเป็นวัตถุต้นทาง ได้ไอเดียมาจาก Gliding Between The Vast Space, 2018 ผลงานชุดที่ลัทธพลทำขึ้นขณะเข้าร่วมโครงการศิลปินในพำนัก A. Farm Residency ที่ประเทศเวียดนาม เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ระหว่างการเดินทางไปตามสถานที่ต่างๆทั่วโฮจิมินห์ ลัทธพลได้เก็บก้อนหินและเศษคอนกรีตที่หลงเหลือจากการทุบตึกเก่าทิ้งเพื่อพัฒนาเมืองกลับมายังสตูดิโอที่พำนัก ก่อนที่จะนำมันมาจัดการด้วยวิธีการทำงานเฉพาะตัว (การแปรสภาพและให้ความหมายกับวัตถุนั้นๆเสียใหม่) ลัทธพลยังคงอิงอยู่กับตัววัตถุดั้งเดิม โดยการคงรูปลักษณ์เดิมของก้อนหินไว้ เท่าที่จะเป็นไปได้ ส่วนจะเป็น ready-made หรือ found object หรือเปล่า? อาจไม่สำคัญเท่ากับว่าตัววัตถุเองนั้นยังคงความสามารถในการสื่อสารเรื่องราวได้

กลับมาที่ผลงานในนิทรรศการนี้ ลัทธพลได้ทิ้งบริบทจากงานชุดเดิมออกไปทั้งหมด เขาออกไปหาหินชุดใหม่และนำมันมาพัฒนาร่วมกันกับพรภพ ผู้ซึ่งคัดเลือกก้อนหินออกมาจำนวนหนึ่ง แล้วจึงนำไปลอกแบบขึ้นมาใหม่ด้วยวิธีการหล่อปูนปลาสเตอร์ พรภพให้ความสนใจในกระบวนการผลิตซ้ำและให้คุณค่ากับวัตถุชิ้นนั้นๆ (ที่เขาผลิตซ้ำขึ้นมา) ในนิทรรศการ “สองคนยลตามช่อง คนหนึ่งมองเห็นโคลนตม อีกคนตาแหลมคม เห็นดวงดาวอยู่พราวพราย : Two men look out through the same bars: ​one sees the mud, and one the star” 2016 ที่หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ พรภพนำแจกันแตกใบหนึ่ง มาผลิตขึ้นใหม่จำนวน 24 ชิ้น ในผลงานชื่อ “Time & Accident” 2016 เพื่อตั้งคำถามถึงความเชื่อที่ว่าการผลิตซ้ำคือการทำลายคุณค่าของต้นแบบ แล้วถ้าหากวัตถุต้นแบบมีความไม่สมบูรณ์ในตัวเอง (ชำรุด) การผลิตซ้ำนี้จะสร้างความไม่สมบูรณ์ ออกมาคราวละมากๆ ด้วยหรือไม่

ถึงแม้ว่าจะมีโจทย์ตั้งต้นเป็นการ “ทำให้เหมือน” กับงานของลัทธพล แต่พรภพก็ไม่มีเจตนาที่จะดึงเอาประสบการณ์ตรงของลัทธพลที่มีต่อวัตถุต้นทางลงไปหลอมในพิมพ์ วิธีการที่พรภพลงมือกับวัตถุเป็นการเชื่อมต่อในฐานะของวัตถุประสงค์ที่มันถูกทำซ้ำ เป็นการทำให้ความหมายเดิมที่ลัทธพลสร้างขึ้นหายไปเพื่อเปิดทางให้กับความหมายใหม่ที่เขาสร้างขึ้น ในแง่นี้แล้ว รูปทรงปลายทางของก้อนหินที่ดูจะมีความเหมือนกันอยู่มาก แต่วิธีคิดและกระบวนการที่มีต่อวัตถุต้นทาง (ก้อนหิน) ของทั้งสองคนนั้นก็แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

ในขณะที่กายภาพของหินซึ่งมีความแข็งแรงทนทาน ก้อนหินของพวกเขากลับชวนให้สงสัยถึงความอ่อนแอและเปราะบาง ถึงขนาดที่ต้องได้รับการคุ้มครองด้วยการใส่ไว้ในตู้กระจก (จริงๆ อาจจะแค่ป้องกันไม่ให้ผู้ชมหยิบกลับบ้าน) ท่ามกลางก้อนหินหลายสิบชิ้นหลากรูปทรงที่ถูกวางคละกันไป คงเป็นเรื่องที่ปฏิเสธได้ยาก หากสายตาซุกซนของคนดูจะ “สแกน” ก้อนหินเหล่านี้ว่า ชิ้นไหนเป็นฝีมือของใคร พอๆ กับคำถามว่า ทำไมถึงต้องเป็นก้อนหิน? หรือ อะไรคือความสลักสำคัญของก้อนหินพวกนี้? ซึ่งอาจไม่ได้เป็นเรื่องที่ชวนให้คิดต่อไปได้เท่ากับคำถามว่า อะไรคือปัจจัยที่ทำให้ วัตถุธรรมดาๆ ไร้เรื่องเล่าและที่มากลายเป็นงานศิลปะขึ้นมาได้ แม้บางทีอาจไม่จำเป็นต้องรู้ถึงที่มาด้วยซ้ำ เพราะที่ไปนั้นได้ปรากฏอยู่ตรงหน้านี้แล้ว
ด้วยความที่ตัวมันเองเป็นวัตถุที่ธรรมดาที่สุด เมื่อเทียบกับสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบๆ ไม่ว่าจะเป็นแท่นจัดวาง การจัดแสง รวมถึงปัจจัยพื้นฐานอย่างพื้นที่แกลเลอรี่ หินได้เป็นต้นทางนำไปสู่การคิดกับปัจจัยเหล่านี้ที่รายรอบตัวมันอยู่ เผยให้เห็นรายละเอียดเบื้องหลังที่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ “ทำให้เป็นศิลปะ” ไม่ว่าจะโดยจงใจหรือไม่ก็ตาม

นอกไปจากการมองในแง่คุณลักษณะของวัตถุแล้ว ชื่อของนิทรรศการ Objective ยังมีนัยเกี่ยวกับการพยายามพูดถึงวัตถุประสงค์ (ของศิลปิน) และการให้ความหมายต่อ “ปรวิสัย” ที่เปิดออกไปสู่ความเป็นไปได้ของความหมายแบบอื่นๆ ส่วนความหมายที่ศิลปินและข้อเขียนชิ้นนี้สร้างขึ้น ก็เป็นเพียงการให้ความหมายในฐานะของผู้ชมที่ได้สิทธิ์อ่านเข้าไปในงานก่อนเท่านั้นเอง

Choose a category to explore

Choose a pier

Choose a type of venue

Choose an option

Choose a location